ภาคอีสานมีประชากรหลายวัฒนธรรม โดยกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาวเป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุดของภาค ดังนั้น คำว่า “วรรณกรรมพื้นบ้านอีสาน” จึงหมายถึงวรรณกรรมกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว หากกล่าวถึงวรรณกรรมของกลุ่มอื่น ก็จะมีการระบุไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ วรรณกรรมพื้นบ้านอีสาน แบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้
วรรณกรรมพุทธศาสนา
เป็นเรื่องเกี่ยวกับชาดกและตำนานพุทธศาสนา เช่น
- พื้นธาตุพนม เป็นตำนานประมวลเรื่องของเจดีย์พระธาตุพนม
- สมาสสงสาร กล่าวถึงหลักธรรมและการดำเนินชีวิตตามแนวพุทธศาสนา
- ปฐมฐาปนา กล่าวถึงการกำเนิดจักรวาลและโลก ตามแนวความเชื่อท้องถิ่น
วรรณกรรมประวัติศาสตร์
เป็นตำนานทางประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องท้าวฮุ่งหรือเจือง (ท้าวบาเจือง) เป็นเรื่องเกี่ยวกับวีรบุรุษของไทย ทำสงครามรวบรวมดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขง และภาคเหนือ (ล้านนา) โดยสามารถขยายอาณาเขตไปถึงญวนเหนือและจีนตอนใต้
วรรณกรรมนิทาน
เป็นตำนานนิทานพื้นบ้าน เช่น เรื่องสินไซ นางผมหอม ท้าวขูลูนางอั้ว ท้าวสีทน การะเกด ท้าวผาแดงนางไอ่ ไก่แก้ว และนางแตงอ่อน เป็นเรื่องหลักที่หมอลำนำไปแสดง
วรรณกรรมคำสอน
มีเนื้อหาสอนใจและชี้แนวทางดำรงชีวิตในครอบครัวรวมทั้งในสังคม โดยยึดจารีตท้องถิ่น และคติธรรมทางพุทธศาสนาเป็นหลัก เช่น คำสอนเรื่องฮีตสิบสองคองสิบสี่ ธรรมดาสอนโลก ท้าวคำสอน ยอดคำสอน และกาพย์ย่าสอนหลาน
วรรณกรรมเบ็ดเตล็ด
เป็นวรรณกรรมแยกย่อยที่ไม่สามารถนำไปรวมกับกลุ่มที่ระบุข้างต้นได้ ได้แก่
- คำเซิ้ง เช่น เซิ้งแห่นางแมว และเซิ้งบั้งไฟ
- บทสูดขวน หรือคำสู่ขวัญ เช่น บทสูดขวนเฮือน (สู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่) สูดขวนเด็ก และสูดขวนแต่งงาน
- ผญา เป็นสำนวนที่มีทั้งแบบสัมผัสและคำคมที่ไม่มีสัมผัส มีด้วยกัน 6 ประเภท คือ ผญาคำสอน ผญาสุภาษิต ผญาปรัชญา ผญาเกี้ยว ผญาปริศนา และ เบ็ดเตล็ด