ภาคอีสานเป็นดินแดนแห่งความสนุกสนาน โดยมีการแสดงพื้นบ้าน สำหรับสร้างความบันเทิง “ม่วนซื่น” ครื้นเครงหลายประเภทด้วยกัน ทั้งนี้ การแสดงเพื่อความบันเทิงของอีสานเหนือ ประกอบด้วยหมอลำ วงดนตรีลูกทุ่ง คณะโปงลาง และหนังปราโมทัย (หนังตะลุงอีสาน) ส่วนการแสดงเพื่อความบันเทิงของอีสานใต้ ประกอบด้วยกันตรึม เจรียง ลิเก วงดนตรีลูกทุ่ง และเพลงโคราช
หมอลำเป็นการแสดงที่หลากหลาย
การแสดงหมอลำมีด้วยกัน 8 ประเภท ได้แก่
ลำพื้น หรือลำเรื่อง เป็นหมอลำประเภทที่เก่าแก่ที่สุด แสดงโดยหมอลำคนเดียวคู่กับหมอแคน โดยร้องลำบอกเล่าเรื่องราวนิทานชาดก หรือเล่าเรื่องนิทานพื้นบ้าน พร้อมสอดแทรกคติสอนใจ
- ลำหมู่ หลายคนเรียกว่า “ลิเกอีสาน” เนื่องจากผู้แสดงแต่งกายคล้ายลิเก แสดงเป็นหมู่คณะ โดยร้องลำบอกเล่านิทานชาดก หรือเล่าเรื่องนิทานพื้นบ้าน
- ลำเพลิน เป็นพัฒนาการของลำหมู่ โดยเปลี่ยนดนตรีจากท่วงทำนองแบบพื้น ๆ ในลำหมู่ มาเป็นจังหวะและทำนองที่สนุกคึกคักมากกว่า รวมทั้งใช้เครื่องดนตรีสากลหลายชิ้นกว่าลำหมู่
- ลำคู่ หรือลำกลอน เป็นพัฒนาการของลำพื้น ส่วนใหญ่มีผู้เกี่ยวข้องบนเวที 3 คน คือ หมอแคน หมอลำหญิง และหมอลำชาย แสดงโดยการร้องลำโต้ตอบ และเกี้ยวกันด้วยกาพย์กลอนที่แต่งขึ้น
- ลำซิ่ง เป็นการแสดงยุคใหม่ของลำคู่ หมอลำสาวและหางเครื่อง แต่งตัวเซ็กซี่เหมือนวงดนตรีลูกทุ่ง ใช้เครื่องดนตรีสากลเข้าร่วมให้จังหวะเหมือนลำเพลิน เป็นการแสดงที่สนุกสนานเร้าใจ
- ลำผญา (ออกเสียงว่า “ลำ-ผะ-หญา”) เป็นลำกลอนประเภทหนึ่ง โดยมีท่วงทำนองการร้องและจังหวะรำเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
- ลำผีฟ้า เป็นการร้องลำเพื่อให้ผีฟ้าหรือสิ่งสิทธิ์อื่น ๆ ช่วยให้ผู้เจ็บป่วยหายจากโรคภัย
- ลำตังหวาย เป็นศิลปะการแสดงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ขยายความนิยมสู่ภาคอีสานของไทย แสดงโดยการร้องและรำด้วยท่วงทำนองและจังหวะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ